วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกร็ดความรู้เรื่องรถบดล้อยาง

    
    

วันนี้ขอเสนอเกล็ดความรู้สำหรับการใช้รถบดล้อยาง

          รถบดล้อยางมีความสำคัญมากต่อการทำงานถนน นอกจากจะบดอัดถนนได้สภาพแน่นดีแล้ว ยังมีความสามารถช่วยในเรื่องของการจัดเรียงโครงสร้างภายในของเม็ดดินได้ดี ลดการแตกหักของโครงสร้างเม็ดดิน ทำให้คุณสมบัติทางวิศวกรรมสมบูรณ์ คือ เพิ่มการต้านทานแรงเฉือน(Shear resistance) ลดการคืนรูป ปริมาตรดินที่ถูกบดอัดลดลง(Compressibility)  ลดการแตกร้าวเนื่องจากการหดตัว (Shrinkage Crack)  ป้องกันการซึ่มผ่านของน้ำ (Permeability)

          แต่ในทางปฏิบัติผู้รับเหมามักไม่นิยมใช้รถบดล้อยาง เหตุผลอันเนื่องมาจากให้ความแน่นได้ช้า กว่ารถบดสั่นสะเทือน Vibrator Roller รถบดล้องยางใช้เชื้อเพลิงมาก กว่าจะทำให้ดินแน่นได้ตามต้องการ หรือหากต้องการให้ทำงานได้ระยะเวลาอันรวดเร็วก็จักต้องเพิ่มจำนวนรถให้มากขึ้น

          นอกจาก Vibrator Roller จะลดเวลา/ลดเชื้อเพลิงได้ดีแล้ว ยังแสดงผลลัพธ์ของงานได้ดี(เมื่อสังเกตุด้วยตา Visual Test) เมื่อช่างควบคุมมาตรวจงานก็จะให้ผ่านได้ง่ายขึ้น (ความคิดของผู้รับจ้างคิดเช่นนั้น...) โดยเฉพาะช่างควบคุมที่ยังมีประสบการณ์น้อย หรือช่างที่บรรจุรับราชการใหม่ๆแต่จำเป็นต้องได้ออกไปคุมงานเพราะเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด ขาดความรู้จากการถ่ายถอดงานที่ดี ก็จะเจอปัญหาแบบนี้อยู่เสมอ .... แม้แต่ตัวผมเองผู้เขียนก็เป็นเช่นนั้น กว่าจะรู้ต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตุอยู่หลายโครงการ แต่นั้นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องเท่าที่ควรเพราะงานอาจจะเสียหายจากการทดลองทำได้
          หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมาตรฐานละ ทำไมไม่อ่านหรือปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ขออนุุญาต ตอบ...แบบเด็กหน้าซื่อ จากประสบการณ์ที่อ่าน หรือที่เจอตามสภาพหน้างาน ^_^

          1) อ่านแล้ว งง ทั้งๆที่ภาษาในมาตรฐานก็เขียนไว้เข้าใจง่าย แต่ งง ที่ เจอการทำงานจริงแล้วผิดรูปแบบไปเลย แต่ได้ผลรับเหมือนกัน คือ...ดินมันก็แน่นดีแฮะ อย่างเช่นการฉีกปูบดอัด "คนเป็นช่างคงเข้าใจคำนี้"

          2) สภาพการก่อสร้างแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน สภาพของวัดุสุที่ใช้ต่างกัน "ไอ้" สภาพของวัสดุที่ต่างกันยังพอเข้าใจได้ในเชิงวิศวกรรม แต่สภาพก่อสร้างไม่เหมือนกันนิละซิ ต่างกันตรงไหน เช่น ถนนสายนั้นมีปริมาณการจราจรหนาแน่น หากแก้ไข้หรือทำงานตามมาตรฐานแล้วส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับ...ชาวบ้าน (ภาษาราชการเรียกว่าผู้ใช้ถนน ) เดือดร้อนยังไง เช่น ฝุ่นละออง ไม่สะดวกการสัญจรช้าลง ไม่สบายขับผ่านแล้วมันเด้งซ้ายทีขวาที"ถนนดิสโก้" และสภาพแวดล้อมปิด เมื่อฝนตหนักกมองไม่ชัดอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดทรัพย์สินเสียหาย ไม่ก็ถึงขั้นรุนแรงแก่ชีวิต ซึ่งจุดนั้นผมเข้าใจว่าสำคัญกว่ามาตรฐานเป็นแน่แท้

          สิ่งที่กล่าวไปเบื้องต้นเป็นความรู้สึกของช่างอย่างผม และผมก็คิดว่าช่างหลายๆคนก็เป็นเช่นนั้น อยากให้งานออกมาดีที่สุดแต่มันทำได้เท่าเนี้ย เฮ้ย... ผมจึงต้องการแชร์ความรู้ผ่าน Blog นี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อช่างรุ่นต่อๆไป โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ยังด้อยประสบกาณ์ได้มีความรู้ เมื่อได้ทำงานแล้วความผิดพลาดจะได้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ตามลำดับการณ์นี้นะครับ

1) ช่างหลายคนคงไม่รู้ (ไม่ว่าจะจบใหม่หรือประสบการณ์น้อยหรือลืมไปก็ตาม) แต่ผมขออนุญาติเตือนว่า รถมันเพิ่มน้ำหนักได้ครับ....เอ๋เพิ่มยังไง ถุงทรายหรอผมเคยเห็นครับ เอาถุงทรายใส่เพิ่มน้ำหนักรถจะได้เพิ่มขึ้น คิดแบบผมเปี๊ยบตอนยังไม่รู้เพราะเห็นเขาทำกันแบบนั้น  แต่ตอนนี้รู้ล่ะ จริงๆเจ้ารถบดล้อยางนะครับสามารถเพิ่มน้ำหนักโดยใช้น้ำเติมเข้าไปได้ ปกติรถบดล้อยางเปล่าๆหนัก ประมาณ 6-8 ตัน เมื่อเติมน้ำใส่ในรถน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-13 ตัน ขึ้นอยู่กับรุ่นและขนาดรถ หรืออาจได้น้ำหนักมากกว่าที่ผมเขียน เพราะเท่าที่ผมเจอประกอบกับแอบขึ้นไปดูเสปครถ แกล้งคุยกับคนขับบ้างเพื่อสังเกตุความรู้สึกเมื่อรถบดผ่านชั้นวัสดุ จึงทำให้ได้ข้อมูลมา
... การใช้ถุงทรายเพิ่มน้ำหนักได้ก็จริงนะครับ แต่หากคิดดีๆแล้ว ถุงหนึ่งให้คนยกไหวก็น่าจะไม่เกิน 50 กก. หากต้องการให้เพิ่ม 2000 กก.เราต้องใช้ถุงทรายถึง 40 ถุง เรียงกันเป็นบังเกอร์ออกรบเลยครับ ...^_^
อีกทั้งการแผ่กระจายน้ำหนักก็คงสู้ แบบที่เจ้าของผู้ผลิตออกแบบมาไม่ได้หรอกครับ ไม่อย่างงั้นเขาคงเขียนลงในคู่มือการใช้หรือติดข้อความไว้กับเสปครถให้เราได้เห็นกัน...

2) รถบดล้อยางมีล้อสองแบบที่เห็นกันคือ เอาไว้นวด...กับเอาไว้นาบ แฮะๆ อย่าพึ่งคิดไปไกล นวดก็คือ การนวดให้วัสดุจัดเรียงตัวได้ดีปกติใช้ล้อยางที่มีจำนวน 9 ล้อ ส่วน นาบ คือบดให้เรียบ ลดร่องล้อที่เกิดจากรถบด 9 ล้อบดผ่าน

3) ที่นี้รู้ได้ไงละว่า Vibrator Roller  เนี้ยบดได้แน่นดีสามารถตบสายตา ช่างคุมงานผู้น้อยๆได้  ข้อนี้ขอตอบตามประสบการณ์หน่อยนะครับ เท่าที่ทดสอบด้วย Field Density Test แบบ Sand Cone มาแล้ว พบว่าการใช้ Vibrator Roller  ให้ผลแน่นมากในความลึก 10 ซม.แรก เมื่อระดับลึกลงไปกลับพบว่ามีสภาพหลวมมากขึ้นตามความหนาของการบดอัด ยกตัวอย่างเช่นบดอัดที่ความหนาในการล้มกองคือ 20 ซม.แบบทีเดียว "ตบกันให้จมกันไปเลย" จะพบว่า 10 ซม.แรก แน่นมากหากใช้ฆ้อนตอกกับเหล็กเจาะบางครั้งเล่นเอาด้ามฆ้อนเกือบหัก แต่พอเจาะเลย 10 ซม.นี้ไป แหมมมันชั่งง่ายเหมือนการแซะขนม คิคิ... นี่ละเมื่อเอาตัวเลขมาคำนวณตามวิธี Field Density Test แบบ Sand Cone แล้วกลับได้ตัวเลขผ่าน เพราะว่าการทดสอบนี้มันได้ค่าความแน่นเฉลี่ยทั้งหลุมเจาะที่เราเจาะขึ้นมา แต่ไม่ได้การันตรีว่าจะไม่เกิดการทรุดตัวในภายหลังนะครับ "ในรูปแบบการทดลองนี้ผมต้องขอขอบพระคุณผู้ใหญ่; วิศกรที่มากด้วยประสบการณ์ในหน่วยงานผม ที่ท่านได้กำหนดให้พวกกระผมใช้เครื่องมือการทดสอบนี้เพราะอะไรหรือ ... ก็เพราะว่ามันสามารถเห็นถึงวัสดุที่มีอยู่ในเบื้องล่างนั้นด้วยว่าควรบดเพิ่มหรือไม่ เป็นวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับงานทางในบ้านเรา

4) " หลงเข้าใจผิดเพราะความรีบร้อน" ประโยคนี้ผมขอใช้กับผู้รับเหมาบางรายนะครับ ผู้รับเหมามักเข้าใจว่าการใช้ Vibrator Roller  เพียงอย่างเดียวก็ทำให้ลดเวลา ลดพลังงาน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่นะครับ หากเราไปอ่านในสเปคเชิงวิชาการตาม Text Book จะพบว่ารถแต่ละชนิดเหมาะสมกับดินแบบไหน...ที่ความหนาเท่าไร... จำนวนรอบการบดควรใช้เท่าไร... แล้วละก็ จะพบว่ามีแต่แนะนำให้ใช้ร่วมกันตามความสามารถของเครื่องจักร อ่าว...แล้วใช้ยังไงล่ะ...ก็เป็นคำถามต่อไปอีก หากเราสังเกตุด้วยประสบการณ์ก็จะพบว่าทำไมดินบางประเภทยิ่งบดยิ่งทำให้เม็ดดินแตกหัก และก็ไม่แน่นสักที แบบนี้ล่ะครับที่เรียกว่าใช้เครื่องจักรไม่เหมาะสมเปลืองทั้งพลังงาน และเวลาทำให้ต้องเพิ่มรอบการบดมากขึ้นแถมยังเพิ่มรอบแล้วก็ยังไม่แน่นกับทำให้หลวมซะอีก (ภาษาช่างเรียกว่า "ปั๊ม" ผลจะขออธิบายหลักการปั๊มให้ได้อ่านในครั้งต่อไปน่ะครับ ) ตรงนี้ละหากว่ารู้จักเครื่องจักรใช้เครื่องจักรได้ถูกประเภทแล้ว ก็จะลดรอบของการบดไปอัตโนมัติ ทำให้เชื้อเพลิงลดลง ใช้เวลาการทำงานไม่มาก ผูดกันง่ายก็คือ ต้องรู้จักรวางแผนการใช้เครื่องจักรชนิดเข้าใจถึงความสามารถ อย่ามองแต่ผลกำไรกับความสามารถเพียงบางส่วนของเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว แล้วท่านผู้รับเหมาก็จะประหยัดได้จากการทำงานเอง ผลงานดีไม่เสียหาย ไม่ต้องตามซ่อมในภายหลังให้เหนื่อยใจ...^_^

ผมขอจบปัญหาที่เคยได้พบมาไว้เท่านี้ก่อน หากนึกขึ้นได้เพิ่มเติมประการใดจะมาเพิ่มให้ช่างๆ ผู้สนใจได้อ่านเพื่อเพิ่มความรู้กันต่อไปน่ะครับ

ทุกข้อความที่เขียนไปอาจมีข้อบกพร่อง หากผู้ที่มีประสบการณ์ ต้องการแนะนำเพิ่มเติมผู้เขียนก็พร้อมที่จะน้อมรับความรู้ดังกล่าวด้วยใจจริง ^_^

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้สำหรับผู้ตรวจการทุกหน่วยงาน...พวกกระผมเป็นช่างทำงานด้วยความตั้งใจน้ำใสใจจริง มีจิตวิญญาณของความเป็นช่าง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนชาวช่างไม่ได้ตั้งใจให้เกิด พวกเราพร้อมที่จะปรับปรุงในสิ่งที่ทำให้ดีขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะปัจจัยที่บีบคั้นและกดดันพวกเราในหลายทางพวงเราจึงเลือกที่จะทำตามสภาพการณ์ที่เหมาะสม ขอได้โปรดเห็นใจ

โดย"วิศวกรแอมพีริเคิล"

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มาตราฐานการใช้เครื่องจักรเพื่อบดอัด ในไทย






รถบดอัด

          ถึงแม้ว่าปัจจุบันความสามารถของเครื่องจักรจะมีการพัฒนาไปมาก จนสามารถควบคุมการบดอัดดินในภาคสนามได้โดยแสดงผลผ่านมอนิเตอร์ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบถึงความแน่นของชั้นดิน เพิ่มน้ำหนักการบดอัดโดยการเพิ่มความถี่ของการบดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอดีตรถบดล้อเรียบสามารถให้น้ำหนักบดอัดได้ประมาณ 10-15 ตัน แต่ปัจจุบันพัฒนาการเพิ่มความถี่สามารถเพิ่มน้ำหนักได้ถึง 25 ตันแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานในไทยนั้นคือ ผู้ใช้ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และคุณสมบัติพื้นฐานของวัสดุที่ใช้งาน "พูดง่ายๆคือ คนงานคนไหนขับรถเป็นก็ขับรถไป หรือนำคนงานมาฝึกขับสักอาทิตย์หรือทำงานสักโครงการหนึ่งได้ก็จับเป็นคนขับประจำ"

          ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะค่าใช้จ่ายเป็นอันดับหนึ่งที่ผู้รับเหมาโดยทั่วไปคำนึงถึง "หากผมเป็นผู้รับเหมาผมก็ทำเช่นนั้น ฮ่าๆ "  รถบดคันหนึ่งราคาสูงหลักล้านบาท นี่ยังไม่รวมเครื่องจักรอื่นๆที่ทำงานร่วมกัน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอีก  หากจ้างคนขับรถที่มีความรู้ในด้านวัสดุมาทำงานร่วมด้วยค่าใช้จ่ายย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และยังมีเหตุผลเรื่องสังคมนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อันนี้ผมไม่ขอพูดถึงดีกว่า เพราะเป็นปัญหาต้นเหตุที่ผมไม่สามารถแก้ไขได้ "เอาเป็นว่าเรามาแก้ไขปัญหาที่เราสามารถทำได้ดีกว่า"
          ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้นักวิชาการผู้ชำนาญงานวิศวกรรมงานทางในประไทย เห็นพ้องต้องกันในการกำหนดมาตรฐานการใช้เครื่องจักรบดอัดในไทย คือไม่ว่าเครื่องจักรสำหรับบดอัดจะรุ่นใหม่แค่ไหนก็ตาม กำหนดให้บดอัดได้หนาไม่เกิน 15 ซม. สำหรับงานดินตลอดจนชั้นพื้นทาง หากต้องการบดหนามากกว่านี้ก็ต้องทำแปลงทดลอง และยังควบคุมต่ออีกว่าถึงทำแปลงทดลองก็ต้องบดที่ความหนาไม่เกิน 20 ซม. (ยกเว้นงานพิเศษที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด) เป็นมาตราฐานที่หน่วยงานราชการในบ้านเรากำหนดให้ใช้เพื่อลดปัญหา 3ค " คน  เครื่องจักร และความแปรปรวนทางธรรมชาติ"

"วิศวกรเอมพีริเคิล"

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รถบดสั่นสะเทือนล้อเรียบ (Vibrating Rollers)

การใช้งาน
เหมาะสำหรับวัสดุมวลรวมหยาบ ที่มีมวลรวมผ่านตะแกรงเบอร์ 200 น้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ และเหมาะมากกับวัสดุผ่านตะแกรงเบอร์ 200 4-8 เปอร์เซ็นต์
การควบคุมคุณภาพของวัสดุ หากต้องการให้การบดอัดมีประสิทธิภาพได้ความหนาแน่น 95-100 เปอร์เซ็นต์ Standard Proctor ต้องบดที่ความหนา 20-25 ซม. จำนวน 3 รอบ(1รอบ คือไป-กลับ)
ขนาดและน้ำหนักรถบด
น้ำหนักของล้อเหล็กไม่ควรน้อยกว่า 200 ปอนด์ และสามารถใช้สองล้อเหล็ก(tandem rollers)ในงานปรับความเรียบให้กลับวัสดุมวลรวมหยาบได้ ความถี่ของการสั่นไม่ควรน้อยกว่า 1600 รอบต่อนาที
ที่มา:winterkarne, p.269

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รถบดล้อเหล็ก (Smooth wheel rollers)

การใช้งาน
นำมาใช้ในงานบดอัดของชั้นดินตลอดจนชั้นพื้นทาง เหมาะกับดินที่มีส่วนคละดี (well graded) หินกรวดปนทราย ใช้กับดินที่มีมวลรวมละเอียด หรืองานเขื่อนดิน ไม่เหมาะกับงานปรับความเรียบของวัสดุประเภททราย (well-graded sands) หรือตะกอนทรายเม็ดละเอียดที่มีขนาดเม็ดสม่ำเสมอกัน(silty uniform sands)
การควบคุมคุณภาพของวัสดุ
การบดวัสดุสำหรับชั้นดิน-ชั้นพื้นทาง ควรบดที่ชั้นความหนาไม่เกิน 20-30 ซม. จำนวน 4 รอบ (1 รอบ คือ ไป-กลับ) หากเป็นวัสดุมวลรวมละเอียดที่ต้องการการป้องกันน้ำซึมผ่าน เช่นเขื่อนดิน ควรบดชั้นความหนาไม่เกิน 15-20 ซม. จำนวน 6-8 รอบ
ขนาดและน้ำหนักรถบด
งานดินตลอดจนงานพื้นทาง ควรใช้ สองเพลาเหล็ก(Tandem type rollers) น้ำหนักรวม 10-15 ตัน ล้อหลังมีน้ำหนัก 300-500 ปอนด์ต่อนิ้ว หากเป็นงานดินมวลรวมละเอียดและต้องการความซึ่มผ่านของน้ำต่ำ เช่นเขื่อนดิน ควรใช้ สามล้อเหล็ก(3-wheel roller) ดินที่มีค่า PI ต่ำ ใช้น้ำหนักรถ 5-6 ตัน ใช้น้ำหนัก 10 ตัน สำหรับดินที่มีค่า PI สูง
ประสิทธิภาพของรถบดล้อเหล็ก
สองล้อเหล็กมีน้ำหนักตั้งแต่ 1-20 ตัน สามล้อเหล็ก(3-axle tandem rollers)มีน้ำหนักตั้งแต่ 10-20 ตัน ล้อเหล็กที่มีน้ำหนักมาก(Very heavy rollers)ใช้กับงานที่ต้องการการกันน้ำซึมผ่าน ใช้ได้ทั้งชั้นดินตลอดจนชั้นพื้นทาง
ที่มา:Winterkarne, p.269
Three-wheeled Roller
2-wheel tandem rollers

รถบดล้อยาง (Rubber tire rollers)

การใช้งาน
เหมาะสำหรับการปรับผิวหน้าให้เรียบ หรือบดวัสดุเป็นชั้นๆ ใช้สำหรับบดอัดวัสดุมวลรวมหยาบ (Coarse-grained soil)ผ่านตะแกรงเบอร์ 200 ที่ 4-8 เปอร์เซนต์ สำหรับวัสดุมวลรวมละเอียด (Fine-grained soil)มีส่วนคละดี(well-graded) หรือวัสดุมวลรวมหยาบมีส่วนคละไม่ดี (Dirty coarse-grained soil)ผ่านตะแกรงเบอร์ 200 มากกว่า 8 เปอร์เซ็นต์
การควบคุมคุณภาพของวัสดุ
การบดอัดให้ได้ความแน่นตามความต้องการที่ 95-100 เปอร์เซ็นต์ Standard Proctor สำหรับดินมวลรวมหยาบผ่านตะแกรงเบอร์ 200 ที่ 4-8 เปอร์เซนต์ ควรมีความหนาในการบดแต่ละชั้นไม่เกิน 25 ซม. จำนวนไม่ต่ำกว่า 3-5 รอบ(1รอบคือ ไป-กลับ) สำหรับดินมวลรวมละเอียด หรือมวลรวมหยาบสภาพแย่ ผ่านตะแกรงเบอร์ 200 มากกว่า 8 เปอร์เซนต์ ควรบดอัดมีความหนาไม่เกิน 15-20 ซม. จำนวนไม่ต่ำกว่า 4-6 รอบ
ขนาดและน้ำหนักรถบด
งานที่ต้องการความเรียบสำหรับชั้นดิน ตลอดจนถึงชั้นพื้นทาง แรงดันลมของยางรถบดควรอยู่ในช่วง 60-80 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว น้ำหนักเพลาควรอยู่ที่ 18,000 - 25,000 ปอนด์ งานดินมวลรวมละเอียด มวลรวมหยาบสภาพแย่ หรือมีค่า PI สูง (High Plasticity)แรงดันลมยางควรมากกว่า 65 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และหากเป็นวัสดุประเภททราย ทรายถม ควรใช้รถบดล้อยางขนาดหน้ากว้าง เช่นรถบดล้อยาง 7 ล้อ แรงดันยาง 40-50 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ประสิทธิภาพของรถบดล้อยาง
ลักษณะล้อยางที่กว้างสามารถนำไปใช้ในงานดินที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเม็ดดิน (Cohesive soils)เช่น ดินเหนียว ได้โดยอนุโลม โดยน้ำหนักเพลาไม่มาก (light wheel loads)ในทางกลับกันเมื่อดินมีลักษณะที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างกันต่ำ ควรใช้ล้อยางที่หน้ากว้าง ล้อยางสลับกันระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง น้ำหนักลงเพลามาก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดลอยร่องล้อ
ที่มา:Winterkarne, p269

รถบดตีนแกะ หรือรถบดล้อหนาม (Sheepfoot rollers)

การใช้งาน
เหมาะสำหรับ ดินเม็ดละเอียด (Fine-grained soil) หรือดินที่มีคุณสมบัติเชิงกลต่ำ คุณภาพไม่ดี หากเป็นวัสดุมวลรวมหยาบ ( Coarse-grained soil)ต้องมีวัสดุเม็ดละเอียดผ่านตะแกรงเบอร์ 200 มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสมกับงานที่ต้องการเพิ่มแรงยึดเหนี่ยวให้กับโครงสร้างดินเม็ดละเอียด งานบดอัดดินป้องกันการซึมผ่านของน้ำ เช่น งานบดอัดดินแกนเขื่อน ไม่เหมาะกับการใช้ปรับความเรียบให้กับวัสดุมวลรวมหยาบ
การควบคุมคุณภาพของวัสดุ
หากผู้ใช้เครื่องจักรมีความต้องการควบคุมคุณภาพของวัสดุให้ได้มาตรฐาน โดยมีค่าการบดอัดไม่น้อยกว่า 95-100 เปอร์เซ็นต์ Standard Proctor ต้องควบคุมความหนาของชั้นวัสดุไม่ให้เกิน 15 ซม. จำนวนรอบการบด ดินมวลรวมละเอียด 4-6 รอบ, มวลรวมหยาบ 6-8 รอบ (1 รอบ คือ บดไป-กลับ)
ขนาดและน้ำหนักรถบด
ชนิดดิน ดินมวลรวมละเอียด PI> 30 ล้อหนาม (Foot contact area)มีพื้นที่ประมาณ 5-12 ตารางนิ้ว แรงดันล้อหนาม(Foot contact pressure) 250-500 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ดินมวลรวมละเอียด PI< 30 ล้อหนาม (Foot contact area)มีพื้นที่ประมาณ 7-14 ตารางนิ้ว แรงดันล้อหนาม(Foot contact pressure) 200-400 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ดินมวลรวมหยาบ ล้อหนาม (Foot contact area)มีพื้นที่ประมาณ 10-14 ตารางนิ้ว แรงดันล้อหนาม(Foot contact pressure)150-250 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ขนาดของล้อหนามและแรงดัน สำหรับบดอัดจะมีประสิทธิภาพสูงหากดินมีความชื้นที่เหมาะสม(Optimum Moisture Content, OMC.)ไปทางด้านเปียก เหมาะกว่าดินที่มีความชื้นที่เหมาะสม(OMC.)ไปทางด้านแห้ง
ประสิทธิภาพของรถบดล้อหนาม
รถบดล้อหนามเหมาะกับงานเขื่อน งานทางหลวง และงานสนามบิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Drum 60 นิ้ว มีน้ำหนัก 1.5-3.0 ตันต่อฟุต ซึ่ง Drum โดยทั่วไปสำหรับงานขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 นิ้ว น้ำหนัก 0.75-1.75 ตันต่อฟุต แรงดันล้อหนามที่กระทำกับดิน ควรสร้างช่องว่างสลับกันเป็นฟันปลา 3 ช่อง หรือ 4 ช่อง ตามแนวการบด เพื่อสร้างความต้านทานในการรับแรงเฉือน
รูป Drum Sheep Foot
ที่มา:Winterkarne, P.269